สำนักงานใหญ่
สำนักงานใหญ่
Direct Line
(+66) 2-960-0136-7 Fax: (+66) 2-960-0248 Mon - Fri 08:30 - 17:30
สำนักงานใหญ่
สำนักงานใหญ่
Direct Line
(+66) 2-960-0136-7 Fax: (+66) 2-960-0248 Mon - Fri 08:30 - 17:30
นำเข้าและจัดจำหน่าย
CNC Machines
ให้คำปรึกษาด้านเทคนิค
ด้วยทีมงานมากประสบการณ์
บริการหลังการขาย
ติดตั้ง อบรม ซ่อมแซม
สอบถาม | Inquiry

คำถามยอดฮิต! เครื่องจักรซีเอ็นซีแบบ Linear Guide หรือแบบ Boxway แบบไหนดีกว่ากัน ??

             

หากท่านใดเคยใช้งานหรือเคยพิจารณาลงทุนซื้อเครื่องแมชชีนนิ่งเซนเตอร์ เครื่องกลึงซีเอ็นซี หรือเครื่องจักรประเภทอื่น ๆ ที่ต้องมีการเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงแล้วละก็ แน่นอนว่าจะต้องได้ยินว่าเครื่องเป็นแบบ “ลิเนียร์” หรือแบบ “บ็อกเวย์” ผ่านหูกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งคำศัพท์สองคำนี้เป็นคำเรียกชนิดของรางเลื่อนที่นิยมใช้กับเครื่องจักรในปัจจุบัน โดยทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษคือ Linear Guideway และ Boxway ที่มีการถกเถียงกันมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด(ทั่วโลก) ว่ารางเลื่อนแบบไหนดีกว่ากัน??

วันนี้ เราจะมาลองแจกแจงเปรียบเทียบคุณสมบัติของรางเลื่อนทั้งสองชนิดในด้านต่าง ๆ จุดต่อจุด ให้เห็นกันชัด ๆ ไปเลยครับว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหนกันแน่

*สำหรับท่านใดที่ไม่แน่ใจว่ารางเลื่อนทั้งสองชนิดนี้คืออะไร เชิญอ่านบทความแบ่งปันความรู้ทางนี้เลยครับ >> บทความ รางเลื่อนคืออะไร

ความเร็วในการเคลื่อนที่

เปรียบเทียบระหว่างรางเลื่อน Linear และ Boxway ในด้านต่างๆ

ความเร็วในการเคลื่อนที่: รางเลื่อนแบบ Linear นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ในด้านความรวดเร็วในการเคลื่อนที่โดยเฉพาะ โดยใช้ตลับลูกปืนเป็นกลไลในการลดแรงเสียดทานระหว่างรางเลื่อน เพราะฉะนั้นรางเลื่อน Linear สามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วกว่ารางเลื่อนแบบ Boxway อย่างแน่นอนครับ  ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้รางเลื่อนแบบ Linear ส่วนมากจะมีความเร็วในการเคลื่อนที่ตัวเปล่า (Rapid Travel) อยู่ที่ประมาณ 25~40 เมตรต่อนาที แต่สำหรับเครื่องจักรชนิดที่ออกแบบมาสำหรับการทำงานอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษก็สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 50~60 เมตรต่อนาทีเลยทีเดียว ส่วนเครื่องที่ใช้รางเลื่อน Boxway มักมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 15~20 เมตรต่อนาที หรืออย่างมากก็จำกัดอยู่แค่ที่ 30 เมตรต่อนาทีเท่านั้น  

*เพื่อให้เห็นภาพสำหรับท่านใดที่คุ้นเคยกับการใช้งานเครื่องแบบแมนน่วล (Manual) มาก่อน เครื่องจักรแมนน่วลจะมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 5~15 เมตรต่อนาที เนื่องจากรางเลื่อนจะเป็นรูปทรงตัววีหรือทรงหางเหยี่ยวและใช้ Lead Screw ในการขับเคลื่อน ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าการใช้ Ballscrew ในเครื่องจักร CNC นั่นเอง

                                   

ความแข็งแรง

เรื่องความแข็งแรง แน่นอนว่าต้องยกให้รางเลื่อนแบบ Boxway ซึ่งมีหน้าสัมผัสแบบเต็มพื้นที่ผิวรางเลื่อน ทำให้สามารถช่วยกระจายแรงได้ ในขณะที่รางเลื่อนแบบ Linear รับแรงจากการกัดงานผ่านทางเม็ดลูกปืนที่อยู่ด้านในของตลับลูกปืนแต่ละตำแหน่ง เกิดการรับแรงแบบ Point load หรือถึงแม่ว่าจะมีการพัฒนามาใช้ลูกปืนแบบ Roller Bearing ที่แข็งแรงกว่าลูกปืนแบบ Ball Bearing แต่ก็จะยังรับแรงได้ไม่ดีเท่ากับรางเลื่อนแบบ Boxway อยู่ดี  เพราะฉะนั้นเครื่องจักรที่รางเป็น Boxway จะสามารถกัดงานได้หนักกว่า โอกาสเกิดการสะท้านน้อย หรือถ้าใช้ Feed กินเนื้องานที่ความหนาเท่ากันก็จะสามารถเดิน Feed ได้เร็วกว่านั่นเอง

ความแม่นยำ

เนื่องจากลักษณะการทำงานของรางเลื่อนแบบ Boxway จะมีแรงเสียดทานสูงกว่าแบบ Linear โดยเฉพาะตอนที่เริ่มเคลื่อนที่ออกตัวจากตำแหน่งหยุดนิ่ง หรือตอนเคลื่อนที่ในจังหวะที่ต้องเปลี่ยนทิศทางจากเดินหน้าเป็นถอยหลัง หรือจากขึ้นเป็นลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดเป็นรอยสะดุดเล็ก ๆ บริเวณที่เครื่องจักรเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ได้ เช่น การเดินขุดชิ้นงานเป็นวงกลม หรือการกัดกลึงงานที่ผิวมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง  ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเพียงรอยเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่สำหรับงานที่มีการคุมค่าความเรียบผิวสูงเป็นพิเศษ การมีรอยสะดุดเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลต่อคุณภาพของชิ้นงานได้

ราคา

รางเลื่อนแบบ Linear จะถูกผลิตโดยผู้ผลิตรางเลื่อนโดยเฉพาะ และผู้ผลิตเครื่องจักรสามารถเลือกซื้อรางเลื่อนตามความยาวที่ต้องการเพื่อนำมาประกอบเข้ากับโครงสร้างของเครื่องจักรได้เลย ในขณะที่รางเลื่อนแบบ Boxway นั้น มีกรรมวิธีในการผลิตยุ่งยากกว่ากันมาก ทำให้โดยทั่วไปแล้วเครื่องจักรที่รางเลื่อนเป็นแบบ Boxway มักจะมีราคาสูงกว่าแบบ Linear แต่ทั้งนี้ รางเลื่อนทั้งสองแบบก็มีระดับคุณภาพต่าง ๆ เหมือนสินค้าทั่วไป โดยคุณภาพของ Boxway ก็จะขึ้นอยู่กับฝีมือและกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของผู้ผลิตเครื่องจักร ส่วนรางเลื่อนแบบ Linear ก็จะขึ้นกับว่าเป็นรางของยี่ห้อไหน ผลิตจากประเทศอะไร

อายุการใช้งาน

ในด้านของอายุการใช้งานนั้น เครื่องจักรที่รางเลื่อนแบบ Boxway มักจะมีอายุการใช้งานนานกว่าเครื่องแบบ Linear โดยสังเกตง่าย ๆ ได้จากเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ประกาศขายมือสอง ส่วนมากผู้ที่ซื้อขายเครื่องจักรมือสองจะรู้กันว่าเครื่องแบบ Boxway จะเป็นที่นิยมมากกว่า และขายได้ราคาดีกว่า เนื่องจากโครงสร้างรางเลื่อนและโครงสร้างส่วนอื่น ๆ ของเครื่องแบบ Boxway มักจะถูกออกแบบมาสำหรับทำงานหนัก มีโครงสร้างบึกบึนแข็งแรง ทำให้แม้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน การเคลื่อนที่ของเครื่องจักรก็มักจะยังเที่ยงตรงอยู่ ในขณะที่โครงสร้างเครื่องจักรแบบ Linear นั้น มักถูกออกแบบมาให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว โครงสร้างมักจะบอบบางกว่าเครื่องแบบ Boxway เมื่อเทียบกันที่รุ่นขนาดและราคาเดียวกัน

การบำรุงรักษา

รางเลื่อน Linear นั้น มีโอกาสที่ตัวรางจะชำรุดเสียหายได้มากกว่า เนื่องจากหากว่าเม็ดลูกปืนภายในเกิดเป็นรอยแม่เพียงนิดเดียว ก็ต้องทำการเปลี่ยนรางเลื่อนใหม่โดยไม่สามารถปรับตั้งหรือซ่อมแซมได้ แต่เนื่องจากรางเลื่อน Linear มีวางขายสำเร็จรูป จึงทำให้การเปลี่ยนรางสามารถทำได้ไม่ยากมากนัก ในขณะที่รางแบบ Boxway มีความทนทานสูง แม้ว่าหากเกิดอุบัติเหตุการ ถู ชน กระแทก ก็ยากที่จะทำให้รางเลื่อนแบบ Boxway เสียหายได้ หากเกิดอุบัติเหตูแล้วทำให้การเคลื่อนที่คลาดเคลื่อนไป ก็ยังสามารถปรับตั้งกิ๊บ (Gib) ให้กลับมาให้งานได้ดังเดิม แต่หากถ้ารางเลื่อนเกิดความเสียหายขึ้นมาจริง ๆ จนถึงขั้นส่งผลต่อการทำงานของเครื่องแล้วละก็ คงต้องเตรียมตัวเจองานซ่อมใหญ่กันเลยทีเดียวครับ

สรุปผลเปรียบเทียบ (สีเขียว = ดีกว่า ; สีแดง = ด้อยกว่าอย่างชัดเจน ; สีเหลือง = ด้วยกว่าเล็กน้อยแต่ไม่เสมอไป)

ความเร็ว :                 Linear       Boxway
ความแข็งแรง
 :          Linear      Boxway
ความแม่นยำ 
:            Linear      Boxway
ราคา
:                      Linear      Boxway
อายุการใช้งาน
:           Linear      Boxway
การบำรุงรักษา
:          Linear      Boxway

เห็นผลเปรียบเทียบกันอย่างนี้แล้ว หากให้คะแนนเป็นตัวเลขก็คงเรียกได้ว่าสูสีคู่คี่กันมากเลยใช่มั้ยล่ะครับ  แต่ที่จริงแล้ว เราจะสรุปว่าสูสีกันก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะว่าเครื่องทั้งสองแบบก็ต่างมีจุดเด่นสำหรับการทำงานที่ต่างชนิดกัน

อย่างเช่น สมมติว่าต้องการใช้ผลิตงานชิ้นส่วนจำนวนมาก แถมปริมาณการกัด หรือเจาะ งานแต่ละชิ้นมีแค่เพียงเล็กน้อย เวลาการทำงานเป็นการเดินตัวเปล่าระหว่างการเจาะแต่ละตำแหน่งและเดินไปกลับเพื่อเปลี่ยนชนิดทูลซะมากกว่า แบบนี้ก็คงต้องใช้เครื่องแบบ Linear อย่างไม่ต้องสงสัย 

ในทางกลับกัน หากชิ้นงานมาเป็นเหล็กก้อน ต้องการกัดขุดเป็นแม่พิมพ์สำหรับผลิตยางแท่นเครื่อง ไม่ต้องการความเรียบผิวมาก แบบนี้ก็ต้องยกให้เครื่องแบบ Boxway แน่ ๆ  หรือหากเป็นแม่พิมพ์ฉีดงานพลาสติดที่ต้องการผิวงานเรียบเนียนมันวาว ก็อาจจะกัดหยาบ (Rough Cutting) บนเครื่อง Boxway แล้วย้ายไปกันผิวละเอียด (Finishing) บนเครื่อง Linear อีกที

เพราะฉะนั้น ขอสรุปสั้น ๆ ว่า หากผู้ใช้งานทุกท่านเข้าใจลักษณะการทำงานที่ต้องการนำเครื่องจักรมาใช้งาน ก็จะสามารถเลือกใช้เครื่องจักรได้อย่างเหมาะสม และคุ้มค่าแก่การลงทุนที่สุดนั่นเองครับ

** รู้อย่างนี้แล้ว สงสัยกันไหมครับว่า แล้วทำไมคนถึงยังเถียงกันอยู่ได้ว่ารางแบบไหนดีกว่าแบบไหน ทั้งที่แต่ละแบบก็เหมาะกับงานที่แตกต่างกัน ? **

คำตอบก็คือ เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องจักรบางส่วน จะลงทุนในการศึกษาและเลือกมุ่งผลิตเครื่องจักรที่ใช้เพียงรางเลื่อนชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจัดสรรค์ทรัพยากรในโรงงานสำหรับการผลิตเครื่องจักรทั้งสองชนิด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การผลิต เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับควบคุมคุณภาพ หรือแม้แต่บุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยพัฒนาก็ดี  และแน่นอนว่าแต่ละผู้ผลิตก็มักจะโฆษณาข้อมูลเฉพาะในด้านดีของเครื่องชนิดที่ตนเองผลิตเท่านั้น จนทำให้มีผู้ฟังที่ฟังเพียงผิวเผินก็ปักใจเชื่อว่าเครื่องที่มีรางเลื่อนแบบบ็อกเวย์หรือแบบลิเนียร์นั้นดีกว่าอีกแบบนึงตามคำโฆษณา ทั้งที่จริง ๆ แล้ว รางเลื่อนแต่ละแบบนั้นเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

About the author

error: Content is protected !!