สำนักงานใหญ่
สำนักงานใหญ่
Direct Line
(+66) 2-960-0136-7 Fax: (+66) 2-960-0248 Mon - Fri 08:30 - 17:30
สำนักงานใหญ่
สำนักงานใหญ่
Direct Line
(+66) 2-960-0136-7 Fax: (+66) 2-960-0248 Mon - Fri 08:30 - 17:30
นำเข้าและจัดจำหน่าย
CNC Machines
ให้คำปรึกษาด้านเทคนิค
ด้วยทีมงานมากประสบการณ์
บริการหลังการขาย
ติดตั้ง อบรม ซ่อมแซม
สอบถาม | Inquiry

งานกลึง คือ กรรมวิธีในการตกแต่งชิ้นงานโดยการควบคุมมีดกลึงหรือเครื่องมือตัด (Cutting Tools) รูปแบบต่าง ๆ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผิวของชิ้นงานที่ถูกจับยึดอย่างมั่นคงและถูกขับให้หมุนด้วยความเร็วสูง ซึ่งเมื่อมีดกลึงสัมผัสผิวชิ้นงานจะเกิดการตัดเฉือนเนื้อของชิ้นงานออกไป ทำให้ชิ้นงานเกิดเป็นรูปทรงที่สมมาตรเชิงรัศมีซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของชิ้นงาน เช่น ทรงกระบอก ทรงกลม ทรงกรวย รูกลม เกลียว ฯลฯ

Turning milling

วัสดุที่นิยมนำมากลึงนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งวัสดุจำพวกไม้ โลหะ พลาสติก ฯลฯ ตามแต่จุดประสงค์ของการใช้งานชิ้นงานนั้น ๆ และแน่นอนว่ามีดกลึงที่ใช้จะต้องมีค่าความแข็งของพื้นผิวสูงกว่าความแข็งของชิ้นงานที่จะนำมากลึงมากพอสมควร

การกลึงแบบพื้นฐานจะมีการเคลื่อนที่ของมีดกลึงด้วยกัน 2 แนวแกน คือ

1. การกลึงโดยให้มีดกลึงเคลื่อนที่ไปตามแนวขวาง หรือตามแนวรัศมีของชิ้นงาน (X-axis) เช่น การกลึงปาดผิวหน้าชิ้นงาน การกลึงเซาะร่อง การกลึงเพื่อตัดชิ้นงานให้ขาด ฯลฯ
2. การกลึงโดยให้มีดกลึงเคลื่อนที่ขนานไปกับชิ้นงาน หรือตามแนวแกนกลางของชิ้นงาน (Z-axis) เช่น การกลึงปอกผิว การคว้านรูกลาง การกลึงเกลียว ฯลฯ

cnc_lathe_machine

เครื่องกลึงซีเอ็นซี ( CNC Lathe )

เครื่องกลึงซีเอ็นซี ( CNC Lathe ) คือ เครื่องจักรที่ควบคุมการทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (CNC) เพื่อผลิตชิ้นงานให้มีรูปทรงตามที่ต้องการด้วยการกลึง ซึ่งการที่เครื่องจักรถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้สามารถผลิตชิ้นงานที่ซับซ้อนได้มากขึ้น และ ผลิตงานซ้ำ ๆ กันในปริมาณมาก (Mass production) ได้ด้วยการเขียนชุดคำสั่งเพียงครั้งเดียว อีกทั้งยังส่งผลให้ชิ้นงานที่ได้ มีความแม่นยำสูงและคุณภาพคงที่ เนื่องจากไม่มีความผิดพลาดที่เกิดจากความเหนื่อยล้าของคนงานเข้ามาเกี่ยวข้อง

ระบบการทำงานของเครื่องกลึง CNC เบื้องต้น

เครื่องกลึง CNC จะทำงานตามชุดคำสั่ง ที่เรียกว่าโปรแกรม G-code และ M-code ซึ่งสามารถป้อนโปรแกรมเข้าไปในเครื่องได้หลายวิธี โดยส่วนมากงานกลึงจะมีชุดคำสั่งการทำงานที่ไม่ซับซ้อนมาก จึงมักทำการป้อนชุดคำสั่งด้วยมือผ่านทางแป้นพิมพ์ แต่ถ้าหากชุดคำสั่งมีความซับซ้อน ก็สามารถสร้างชุดคำสั่งจากคอมพิวเตอร์แล้วนำมาโหลดใส่ในเครื่องกลึงอีกทีหนึ่งได้ เมื่อระบบควบคุมอ่านโปรแกรมที่ป้อนเข้าไปแล้ว ก็จะนำค่าที่อ่านได้ไปควบคุมส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร ให้ทำงาน โดยส่วนสำคัญคือการบังคับมอเตอร์ที่ควบคุมการหมุนของหัวจับชิ้นงานและมอเตอร์ที่ควบคุมตำแหน่งของแกนการเคลื่อนที่ ให้หมุนด้วยความเร็วหรือให้เครื่องที่ไปยังตำแหน่งที่กำหนด

cnc_lathe_machine
ส่วนประกอบหลักของเครื่องกลึง CNC

1. ฐานเครื่องจักร (Machine Bed) คือ ชิ้นส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักของเครื่องกลึง ซึ่งเป็นแกนกลางที่ใช้เป็นฐานในการติดตั้งส่วนประกอบอื่น ๆ ตั้งแต่ ชุดหัวจับชิ้นงาน รางเลื่อนแกน ป้อมมีดกลึง ฯลฯ จึงต้องมีความแข็งแรงสูงเพื่อให้สามารถรับแรงที่เกิดจากกระบวนการกลึงได้ มักทำจากเหล็กหล่อซึ่งมีความแข็งแรงสูงและดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี

2. ระบบขับเคลื่อนและส่งกำลัง ประกอบด้วย ระบบขับเคลื่อนการหมุนของชิ้นงาน และระบบขับเคลื่อนแกนการเคลื่อนที่

– ระบบขับเคลื่อนการหมุนของชิ้นงาน ประกอบด้วยมอเตอร์หลัก (Main motor) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนแกนหมุน (Spindle) ให้หมุนตามความเร็วที่ต้องการ ซึ่งสามารถส่งกำลังได้หลายรูปแบบ ทั้งผ่านทางสายพานขับ ผ่านชุดเฟือง หรือขับเคลื่อนโดยตรง ไปยัง Spindle ซึ่งจะยึดติดกับหัวจับชิ้นงาน และพาให้ชิ้นงานหมุนไปพร้อมกัน

– ระบบขับเคลื่อนแกน เป็นระบบที่ขับเคลื่อนให้มีดกลึงเคลื่อนที่ตามแนวแกนทั้งแนวขวาง (X-axis) และแนวขนานกับชิ้นงาน (Z-axis) ซึ่งประกอบด้วยมอเตอร์ (Motor) รางเลื่อน (Guideway) และ ชุดเพลาเกลียวขับ (Ball Screw) ของแต่ละแกน โดยมอเตอร์มีหน้าที่หมุน Ball Screw ซึ่งมีลักษณะเป็นเกลียวส่งผลให้เกิดการผลักดันป้อมมีดให้เคลื่อนที่เดินหน้าหรือถอยหลังเป็นเส้นตรงไปตามแนวรางเลื่อน โดยที่มอเตอร์จะมีอุปกรณ์อ่านค่าองศาการหมุน ซึ่งสามารถคำนวนออกมาเป็นระยะการเคลื่อนที่เชิงเส้นได้จากระยะเกลียวของ Ball Screw

โดยส่วนมาก มอเตอร์ที่ใช้ในเครื่องกลึง CNC จะเป็นมอเตอร์ประเภทเซอร์โว (Servo Motor) เนื่องจากมีการตอบสนองเร็ว แม่นยำสูง และสามารถสร้างแรงบิด (Torque) ได้มาก

3. ระบบจับยึดชิ้นงาน และจับยึดมีดกลึง

– ระบบจับยึดชิ้นงาน เรียกว่าหัวจับ หรือ ชัค (Chuck) เป็นชิ้นส่วนที่ด้านหนึ่งจะประกอบยึดติดกับด้านหน้าของแกนหมุน (Spindle Nose) และอีกด้านหนึ่งจะประกอบเข้ากับอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน ซึ่งมีทั้งแบบที่บีบจับงานโดยรอบ เรียกว่า Collet หรือแบบที่บีบจับงานเพียง 3-4 ตำแหน่ง เรียกว่า Jaw ซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับรูปร่างของชิ้นงานเพื่อให้สามารถจับยึดชิ้นงานได้อย่างมั่นคง และสามารถจับและปล่อยชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว ชุดหัวจับจะถูกควบคุมการจับหรือปล่อยชิ้นงานด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Chuck Cylinder ซึ่งทำหน้าที่ดึงแกนกลางของหัวจับให้เคลื่อนที่เข้า-ออก (Clamp-Unclamp) โดยใช้กำลังจากแรงดันไฮดรอลิค

Chuck

– ระบบจับยึดเครื่องมือตัด นิยมเรียกกันว่าป้อมมีด (Turret) ซึ่งเป็นส่วนที่จะเคลื่อนที่ไปตามรางทั้งในแนวแกน X และ Z เพื่อให้เครื่องมือตัดเคลื่อนที่ตัดเฉือนชิ้นงานให้เป็นรูปทรงตามต้องการ โดยป้อมมีดที่ใช้กับเครื่องกลึง CNC มักจะมีตำแหน่งสำหรับติดตั้งเครื่องมือตัดได้หลายตำแหน่ง (เช่น 8, 10 หรือ 12 ตำแหน่ง) และมีระบบหมุนเปลี่ยนตำแหน่งแบบอัตโนมัติเพื่อที่เครื่องจักรสามารถเปลี่ยนเครื่องมือตัดที่จะนำมาให้กลึงชิ้นงานได้อย่างต่อเนื่องตามชุดคำสั่งที่ป้อนไว้

Turret

4. ระบบควบคุม

ระบบการควบคุม หรือ Controller เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญของเครื่อง CNC ทุกชนิด ซึ่งมีหน้าที่หลักในการแปลงข้อมูลชุดคำสั่ง G-code และ M-Code ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่ใช้ในการควบคุมตำแหน่งการเคลื่อนที่ของเครื่องจักร และสั่งงานระบบอื่น ๆ เช่น เปิดและปิดน้ำหล่อเย็น สั่งเปลี่ยนชนิดเครื่องมือตัด สั่งระบบการหมุนของ Spindle เป็นต้น โดย Controller จะแปลงชุดคำสั่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อไปสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ของเครื่องจักร ให้ทำงานได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

ในปัจจุบันนี้ ชุด Controller ของเครื่องกลึง CNC ได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมระบบการใช้งานอื่นๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานของเครื่องจักรมากขึ้น อาทิ เช่น การจำลองการทำงานด้วยภาพสามมิติก่อนเริ่มงานจริง การแจ้งเตือนต่างๆ การชดเชยค่าการเคลื่อนที่ การอ่านชุดคำสั่งล่วงหน้า ฯลฯ

ทั้งนี้ระบบการใช้งานเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของผู้ผลิตแต่ละราย โดยในตลาดก็มีผู้ผลิตที่ผลิตเฉพาะ Controller มาตรฐานสำหรับให้ผู้ผลิตเครื่องจักรเลือกนำไปใช้ประกอบเครื่องจักรอยู่ด้วยกันหลากหลายยี่ห้อ เช่น Fanuc และ Mitsubishi จากญี่ปุ่น GSK ของจีน หรือ Siemen และ Fagor จากทางยุโรป และยังมีผู้ผลิตเครื่องจักร CNC ที่พัฒนาชุด Controller ของตนเองเพื่อให้มีความเหมาะสมกับเครื่องจักรแต่ละชนิดมากยิ่งขึ้น เช่น OSP Controller ของเครื่อง CNC OKUMA, Mazatrol ของ เครื่อง CNC Mazak, CELOS ของเครื่อง DGM Moriseiki, Brother Speedio ฯลฯ

workpiece

About the author

error: Content is protected !!